12.3.55

เมื่อหมดรัก

“เป็นยังไงบ้าง งานแต่งงานเมื่อวาน” เขาเอ่ยปากถามขึ้นระหว่างมื้ออาหารกลางวัน

“ดีค่ะ” ฉันตอบสั้น ต่อด้วยประโยคคำถาม “ทำไมคุณถึงตัดสินใจไม่ไป”

“นั่นสินะ” เสียงถอนใจมาจากร่างผอมในชุดเสื้อเชิ้ตสีฟ้าจาง ม้วนปลายแขนขึ้นลวกๆ สายตาเขาจดจ่อกับหนังสือพิมพ์ในมือมากกว่าสนใจจะตอบคำถาม “ผมคงไม่ได้รู้สึกสนิทกับเขามากขนาดนั้น”

“ฉันแปลกใจนิดหน่อยที่ไม่เจอคุณ” ฉันตักอาหารเข้าปาก “ทั้งที่เจ้าบ่าวรุ่นเดียวกับคุณ แถมยังทำงานที่เดียวกับเรา ส่วนเจ้าสาวนี่เพื่อนกลุ่มเดียวกันกับฉัน”

คราวนี้เขาหัวเราะเสียงดัง ทั้งที่สายตายังจับอยู่ที่หนังสือพิมพ์ “นั่นไงละ เพราะผมรู้ไงว่าคุณต้องไปแน่ๆ”

“นึกๆ ดู ผมคงไม่อยากเห็นคุณในชุดประหลาดไปจากที่เห็นอยู่ทุกวันสักเท่าไหร่”

ฉันชะงัก อ้าปากจะโต้ตอบ ชายหนุ่มรู้ทันรีบส่งหนังสือพิมพ์ในมือให้

“เอ้า ดูนี่สิ” เขาหัวเราะหึหึ “ข่าวนี่ตลกดีนะ”

หน้าที่เปิดค้างไว้เป็นข่าวสั้นในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง สรุปใจความว่า

“นายแพทย์ชาวอเมริกัน ขึ้นศาลขอทวงไตข้างหนึ่งที่เคยบริจาคให้แก่ภรรยา หลังจากที่ทั้งคู่ได้ทำเรื่องหย่าขาดจากกัน”

“ดร.บาติสตา ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน ได้บริจาคไตข้างหนึ่งให้ภรรยาเมื่อแปดปีที่แล้ว เพราะภรรยาเกิดล้มป่วยหนัก แต่แทนที่จะซาบซึ้งกับคุณความดี ภรรยากลับไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายอื่น จึงทำให้ตัดสินใจหย่าขาดจากกัน ดร.บาติสตาต้องการไตที่บริจาคให้ภรรยาคืน ด้วยเหตุนี้จึงนำคดีมาสู่ศาล และหากทำเรื่องขอทวงไตคืนไม่ได้ก็ขอเรียกเป็นค่าชดเชยความเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 50 ล้านบาท) “

ฉันหันไปมองหน้าเขา

“คุณคิดว่าไง” เขาเลิกคิ้ว เคาะนิ้วลงกับโต๊ะ

“เหลือเชื่อจริงๆ” ฉันว่า แล้วถอนหายใจจริงจัง “นี่มันบ่ายวันเสาร์นะคะ”

“คุณไม่เคยปล่อยให้ฉันสมองว่างบ้างเลย”

ฉันหยิบชิ้นข่าวบนโต๊ะขึ้นมาอ่านทบทวนอีกครั้ง “ประเด็นคือเรื่องสินสมรสหรือเปล่าคะ ฉันไม่ค่อยแน่ใจ”

“ถ้าไม่ใช่เพราะผม ก็คงเพราะอากาศตอนบ่ายวันเสาร์ทำให้คุณเบลอ” เขาหัวเราะสนุก

“ถ้าเป็นเรื่องสินสมรส กฎหมายวางหลักไว้ว่าสินสมรสคือบรรดาทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มา ‘ระหว่าง’ สมรส แตกต่างจากสินส่วนตัว ซึ่งหมายถึงบรรดาทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ ‘ก่อน’ สมรส และยังรวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัว และทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา”

“หากคู่สามีภรรยาตกลงหย่าขาดจากกัน ย่อมทำให้การสมรสสิ้นสุดลงตามกฎหมาย ผลคือต้องมีการแบ่งสินสมรสระหว่างชายและหญิงเป็นส่วนเท่าๆกัน”

“ในกรณีนี้ ถ้าประเด็นเป็นเรื่องสินสมรสอย่างคุณว่า เราคงต้องมาพิจารณาว่า ในขณะหย่า คู่สามีภริยามีทรัพย์สินใดที่ถือว่าเป็นสินสมรสบ้าง เราต้องมีการแยกสินสมรสออกจากสินส่วนตัวอย่างชัดเจน จะได้สามารถแบ่งเป็นส่วนเท่าๆ กันอย่างถูกต้อง”

“เพราะฉะนั้น ถ้ามองแบบนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคิดในคดีนี้คือ ‘ไต’ ถือเป็นสินสมรสหรือเปล่า” คราวนี้เขาหัวเราะเสียงดังไม่หยุด

ฉันส่งค้อนให้เพราะอดไม่ได้ เสจิบน้ำผลไม้เย็นเฉียบจากแก้วสูง

“โอเค ฉันเข้าใจละ”

“ถ้าอย่างนั้นคุณคิดว่า...”

“ตามกฎหมายไทย ผมว่าเรื่องนี้น่าจะเทียบได้กับการให้โดยเสน่หา...” ชายหนุ่มพยายามม้วนแขนเสื้อที่ตกลงมาข้างหนึ่งกลับขึ้นไปให้เรียบร้อย

“...ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ให้อาจถอนคืนการให้โดยอาศัยเหตุเนรคุณ เช่น ผู้รับได้ประทุษร้ายผู้ให้เป็นความผิดอาญาร้ายแรง หรือผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง”

“แต่การให้บางอย่างก็ถอนคืนด้วยเหตุเนรคุณไม่ได้” ฉันว่า “เช่น การให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้ในการสมรส”

“เก่งมาก” เขาจัดแขนเสื้อเข้าที่ด้วยท่าทางพออกพอใจ “ไม่รู้สิ ผมแค่คิดเล่นๆ”

“เหลือเชื่อไหม คนเราเวลาหมดรัก ให้ร้ายแค่ไหนอะไรก็ทำได้”

ฉันลอบเห็นแววตาจริงจังหลังกรอบแว่นสวย

“ความรักเกิดขึ้น มีอยู่ และสักวันก็อาจหมดไป” เขาหยุด และพูดต่อ “อย่างคู่เพื่อนเราที่เพิ่งแต่งงานเมื่อวาน...”

“คุณกำลังจะบอกว่าสักวันเขาก็เลิกกัน?” ฉันเสียงแข็ง “และอาจลุกขึ้นมาฟ้องเรียกม้าม หรือไตคืนอย่างคู่นี้?”

“ก็อาจเป็นได้” เขาพับหนังสือพิมพ์เก็บอย่างเรียบร้อย

“ผมแค่จะบอกว่าฟ้องเรียกไตคืนยังไม่เท่าไหร่”

“ ถ้าหมดรักแล้วฟ้องเรียกหัวใจคืน อย่างนี้ก็คงลำบากเหมือนกัน”

ไม่มีความคิดเห็น: