5.9.53

บุคคลสิทธิ-ทรัพยสิทธิ


ใบหน้าระบายยิ้มของคนที่เพิ่งจะนั่งลงเมื่อสักครู่ ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นหน้านิ่วคิ้วขมวด ใช้สองนิ้วคีบปากแก้วหมุนเล่นอย่างไม่รู้จะทำอะไรดีไปกว่านั้น


“ผมขอโทษจริงๆ”


“ไม่เป็นไรค่ะ ” คำตอบเบา ตายังจ้องอยู่ที่จอคอมพิวเตอร์ สองมือวางบนคีย์บอร์ด แต่ฉันกลับไม่รู้จะพิมพ์อะไรลงไปดี


“ผมผิดนัดคุณบ่อยขนาดนั้นเลยหรือ?”


“ไม่มากเท่าไรหรอก แค่ทุกครั้งที่คุณไม่ว่าง แค่นั้น”


“นี่เป็นครั้งแรกที่คุณโกรธผม”


“ไม่ได้โกรธค่ะ แค่พยายามใช้สิทธิเรียกร้อง ซึ่งฉันคิดว่าน่าจะพอมีอยู่บ้าง แค่นั้นเอง”


ฉันถอนหายใจ คนตรงหน้าคล้ายเริ่มจะยิ้มออกอีกครั้ง มือเรียวสวยยื่นมาแตะหลังมือฉันเบาๆ แล้วก็เหมือนเพิ่งนึกได้ รีบดึงมือกลับไปไว้ในท่ากอดอก เอนหลังพิงพนัก หัวเราะหึหึ แววตาขบขันครุ่นคิดคล้ายกำลังพยายามหาทางจะเอาชนะ


ฉันนิ่ง พยายามคิดถึงสิทธิเรียกร้องที่ตนเองน่าจะมี ในฐานะเพื่อนสนิทคนพิเศษของคนช่างเย็นชา...


“สิทธิเรียกร้อง” ตามกฎหมายมีความหมายเช่นเดียวกับ “บุคคลสิทธิ” บุคคลสิทธิหรือสิทธิทางหนี้ ในทางกฎหมาย หมายความถึง “สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในการที่จะบังคับให้บุคคลนั้นกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามประสงค์ของผู้ทรงสิทธิ”


ลักษณะพิเศษของบุคคลสิทธิคือ เป็นสิทธิที่เจ้าของสิทธิสามารถเรียกร้องเอาได้เพียงแต่จาก “บุคคล” โดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนอยู่ในเวลาที่เกิดสิทธิอยู่เท่านั้น บุคคลในฐานะผู้ทรงสิทธิไม่สามารถไปเรียกร้องเอาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ของตนได้ บ่อเกิดของบุคคลสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีหลายประการ เช่น นิติกรรมสัญญา ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ ฯลฯ


“บุคคลสิทธิ” กับ “ทรัพยสิทธิ” ยังมีความแตกต่างกันหลายประการ...


...อะไรก็ช่าง... เอาเป็นว่า ตอนนี้ฉันต้องหาทางจัดการกับรอยยิ้มยั่วประสาทตรงหน้าให้ได้... ไม่ว่าจะด้วย “บุคคลสิทธิ” มีด ดาบ หอก พร้า ไม้หน้าสาม หรืออะไรก็แล้วแต่...


ในที่สุดเขาก็เปิดปาก...


“เอาละ ผมเข้าใจ... ในฐานะที่คุณเป็นเพื่อนพิเศษ คุณอาจมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้ผมปฏิบัติตามสัญญา ถึงแม้ว่าสิทธิที่ว่านี้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติรับรองไว้ก็ตาม...”


“คุณอย่าลืมว่า “สิทธิ หมายถึง ประโยชน์หรืออำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครองให้” ดังนั้น กรณีนี้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิไว้ ผมอาจจะถือว่าคุณไม่มีสิทธิก็ได้...และเมื่อคุณไม่มีสิทธิมาตั้งแต่ต้น คุณก็ย่อมจะไม่สามารถยกเอาบุคคลสิทธิหรือสิทธิเรียกร้องใดๆ มาอ้างกับผมได้เลย นั่นแปลว่า...ผมมีสิทธิโดยชอบธรรมทุกประการที่จะปฏิเสธคุณ”


....เงียบสนิท...ไม่มีคำตอบ...


“แต่ผมไม่ใจร้ายขนาดนั้น”


“อาศัยจารีตประเพณี และเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย...และศีลธรรมอันดีของประชาชน...”


...น้ำเสียงคล้ายจะสำลักหัวเราะ...


“...ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ผมเห็นว่า ในฐานะที่ผมได้สัญญากับคุณไว้ ผมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา และสัญญานั้นก็ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่คุณที่จะบังคับเอากับผม...”


“...เมื่อในที่สุด ผมไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา คุณในฐานะผู้ทรงสิทธิก็ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากผมได้”


“เพราะรู้อย่างนี้ วันนี้ผมจึงเตรียมค่าเสียหายมาให้คุณ”


มือเรียวสวยหยิบถุงกระดาษใบเล็กออกวางลงบนโต๊ะด้วยท่าทางขัดๆ อย่างที่ไม่นึกมาก่อนว่าคนช่างเย็นชาจะทำได้


ฉันเอื้อมมือออกไปรับค่าเสียหายที่ว่าอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจนัก ค่อยๆ แง้มออกดู ...โธ่เอ๋ย ...เอาตุ๊กตาหมีไปหลอกเด็กเถอะ!


“จะบอกอะไรให้นะคุณ ความเสียหายของฉันน่ะ เป็นความเสียหายทางจิตใจ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ยอมรับ ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาให้ฉันก็ได้”


“ก็แล้วแต่คุณ” เขาว่า


“ตอนนี้ของอยู่ในมือคุณแล้ว คุณได้ทรัพย์นี้ไปจากผมโดยชอบธรรม ดังนั้นคุณจึงมีกรรมสิทธิ หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ทรัพยสิทธิ” เหนือทรัพย์นั้น คุณจะทำอย่างไรกับมันก็ได้”


“ทรัพยสิทธิ” ตามกฎหมาย หมายถึงสิทธิที่บุคคลหนึ่งมีอยู่เหนือทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่าง ทรัพยสิทธิจัดเป็นสิทธิเด็ดขาดที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสิทธิสามารถใช้กล่าวอ้างหรือต่อสู้บุคคลได้ทั่วไป โดยไม่จำกัดเฉพาะระหว่างบุคคลที่มีมูลหนี้ต่อกันเท่านั้น บุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิ คือบุคคลที่มีอำนาจเหนือทรัพย์ และสามารถใช้สิทธิเหนือทรัพย์นั้นอย่างไรก็ได้ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการรบกวนหรือกระทบสิทธิของบุคคลอื่น


ฉันนิ่งคิด


“ได้เลยค่ะ ตกลงตามนี้”


“ฉันจะรับไว้ แล้วถ้าคราวหน้าคุณผิดนัดฉันอีก ฉันจะเอาตุ๊กตานี่มาคืนให้คุณ”

ไม่มีความคิดเห็น: